ยอดนักบริหารในแบบ สามก๊ก
” ท่านปรารถนาให้ชนรุ่นหลังกล่าวขานถึงท่านอย่างไรซึ่งท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้เลือกเดิน ”
ตัวละครใน สามก๊ก ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ยอดนักบริหาร” ว่ามีด้วยกันหลักๆ คือ ผู้นำ 3 แคว้น ได้แก่ โจโฉ เล่าปี่ และ ซุนกวน
โจโฉ ซึ่งมีความรู้ทั้งทางบุ๋นและบู๊ สร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมาได้และเป็นอาณาจักรใหญ่สุดใน สามก๊ก เป็นคนเก่งมาก จนแยกแยะไม่ออกว่าระหว่าง โจโฉ กับ ขงเบ้ง ใครเก่งกว่ากัน
โจโฉ เป็นคนนำตำราพิชัยสงครามซุนวูมาเขียนบันทึกด้วยความเข้าใจของตนเอง แสดงถึงความช่ำชองแตกฉานในกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งยังเขียนบทกวีซึ่งมีตกทอดมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ ขงเบ้ง ไม่มีบทกวี มีแต่เขียนจดหมายสอนลูกหลาน ที่ได้รับการยกให้เป็นจดหมายที่มีปัญญาและมีเนื้อหากินใจ
โจโฉ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยการวางระบบบริหารแบบ อำนาจนิยม ใครก็ได้ที่ช่วยให้สำเร็จบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ โจโฉ ใช้หมด ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ใครมาสวามิภักดิ์กับ โจโฉ แม้ผู้นั้นจะเก่งแต่มีข้อบกพร่องทางด้านคุณธรรมความดี โจโฉ ก็ไม่สนใจ
“ถ้าจะดูคนเก่งให้ดู 2 คนนี้คือโจโฉและขงเบ้ง แต่คนมักมองตามวรรณคดี กลายเป็นคนที่เก่งสุดในแผ่นดินคือขงเบ้ง โดยสรุปน่าจะยกย่องว่าโจโฉเก่งรอบตัว ภาพของขงเบ้งคือเก่งและดี ส่วนภาพของโจโฉคือเก่งและร้าย
“แนวทางการบริหารงานของโจโฉคือต้องการประสิทธิภาพ ต้องการบรรลุเป้าหมาย และใช้คนเก่งทุกคนทุกแบบ โดยไม่คำนึงว่าคนที่ถูกใช้นั้นมีชื่อเสียงดีหรือไม่ดี สุดท้ายก็มีเรื่องร้ายๆ ของโจโฉออกมา ทำให้โจโฉมีภาพ 1,800 ปีที่ผ่านมาคือร้าย จนลืมไปถึงความเก่ง เพราะความร้ายของโจโฉเป็นภาพติด สรุปอีกคำหนึ่งคือ ” โจโฉเก่งและร้าย ” สมัยนี้เราเรียกภาพลักษณ์ หรือ image นั่นแหละ
ส่วน เล่าปี่ เป็นคนเปิดเผย จริงใจ ปกครองโดยใช้หลัก คุณธรรมนิยม อยู่กับทุกคนได้นานโดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เล่าปี่ ให้ความไว้ใจและมีเมตตาต่อลูกน้อง ขณะเดียวกันลูกน้องก็เชื่อใจและภักดีต่อ เล่าปี่ อยู่ด้วยกันอย่างเคารพเชื่อถือกัน แม้เมื่อ เล่าปี่ เสียชีวิต ก็ไม่เคยมีข้อบกพร่องระหว่างเขากับลูกน้องเลย
“ ก๊กของเล่าปี่อยู่อย่างเชื่อถือกัน และทำอะไรได้สำเร็จช้า เพราะไม่มีคนเก่งและร้ายมาอยู่ร่วม มีแต่คนเก่งและดี ทำให้ไปทำเรื่องร้ายๆ ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็วไม่ค่อยได้ มีมโนธรรมคอยคุมไม่ให้ทำความชั่ว เพราะฉะนั้นผลงานของก๊กเล่าปี่จึงเป็นผลงานที่ออกดอกออกผลช้า ไม่ทันใจ อาณาจักรไม่ยิ่งใหญ่เท่าโจโฉ ”
ผู้นำอีกก๊ก คือ ซุนกวน ขึ้นมารับอาณาจักรที่พี่ชายกับพ่อได้สร้างไว้ตอนที่ตนเองอายุเพียง 18-19 ปี ซุนกวน เป็นผู้นำที่ฉลาด รู้ว่าความสำเร็จของตนมาจากลูกน้อง ก็ให้ความเคารพและดูแลลูกน้องอย่างดี ลูกน้องจึงเชื่อใจและภักดี บริหารคนแบบ คุณธรรมนิยม แต่เมื่ออายุมากขึ้น เริ่มคิดและทำอะไรโดยไม่ฟังเสียงใครทักท้วง ช่วงท้ายของชีวิต คนดีและคนเก่งหลายคนก็ต้องตายในเงื้อมมือ ซุนกวน
โจโฉ เล่าปี่ และ ซุนกวน ต่างมีลักษณะการบริหารที่แตกต่างกัน ปลายทางของแต่ละคนจึงย่อมแตกต่างกันไปตามเส้นทาง
โจโฉ มีทั้งลูกน้องที่เก่งและดี ช่วยประคองก๊กของ โจโฉ ให้แข็งแรงขึ้น จนกุมอำนาจได้หมดทั้งด้านทหารและพลเรือน แต่สุดท้ายคนเก่งและดีอยู่ไม่ได้ เพราะ โจโฉ เก็บทิ้ง เหลือแต่ลูกน้องที่เก่งและร้าย ยิ่ง โจโฉ ขยายอำนาจมากเท่าไหร่ ลูกน้องเก่งและดีก็เหลือน้อยลงเท่านั้น
โจโฉ มีลูกน้องคนสำคัญ คือ สุมาอี้ ซึ่งเป็นเพื่อนของ โจผี ลูกชายของตน สุมาอี้ ไต่ขึ้นจากข้าราชการระดับล่างขึ้นสู่ระดับกลาง มีโอกาสแสดงความสามารถด้วยการคุมทัพออกรบ เมื่อ โจผี ขึ้นเป็นกษัตริย์ สุมาอี้ ก็เติบโตในราชสำนัก และคอยกันไม่ให้ ขงเบ้ง ยกทัพมาปราบ
สุมาอี้ เริ่มแผ่อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ผ่องถ่ายอำนาจมาอยู่ในตระกูล จนลูกของตนคือ สุมาเจียว และ สุมาสู คุมอำนาจได้หมด ในที่สุด สุมาเอี๋ยน ซึ่งเป็นหลานของ สุมาอี้ ก็ล้มหลานของ โจผี ตั้งตัวขึ้นเป็นจักรพรรดิของอาณาจักรจิ้น
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกงกำกงเกวียน ตระกูลโจทำแบบนี้กับจักรพรรดิองค์เก่า ตระกูลสุมาอี้ก็ทำแบบเดียวกับตระกูลโจ นี่คือโจรปล้นโจร”
ทางฝั่ง เล่าปี่ หลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว ลูกชาย คือ อาเต๊า ก็ขึ้นครองราชย์ โดยมี ขงเบ้ง เป็นนายกฯ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขงเบ้ง กินน้อย นอนน้อย ทำแต่งาน เอาเวลาไปบัญชาการรบสู้กับ โจโฉ ไม่มีเวลามาทุจริต ทำเช่นนี้อยู่ 11 ปี จน ขงเบ้ง เหนื่อยมาก ร่างกายทรุดโทรม จึงเขียนจดหมายลา อาเต๊า และเสนอแนะนายกฯ คนต่อไป 2-3 คนให้ อาเต๊า หลังจากนั้น อาเต๊า ก็อยู่ต่ออีก 29 ปี โดยใช้สิ่งที่ ขงเบ้ง แนะนำทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงการเคารพและเชื่อมั่นระหว่าง อาเต๊ากับขงเบ้ง
กรณี ขงเบ้ง มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือ เติ้งเสี่ยวผิง เป็นคนที่อายุน้อยสุดในหมู่ผู้สร้างประเทศจีน แต่มีผลงานใกล้เคียงกับผู้ใหญ่คนอื่น ช่วงที่ เติ้งเสี่ยวผิง ยังอยู่ เขาได้สร้างอนาคตผู้นำอย่าง เจียงเจ๋อหมิน หูจิ่นเทา และ เหวินเจียเป่า ไว้เป็นผู้นำประเทศสืบต่อจากตน มาวันนี้จีนมี หูจิ่นเทา ที่ เติ้งเสี่ยวผิง สร้างไว้ เช่นเดียวกับ ขงเบ้ง ที่เตรียมผู้นำไว้ให้ อาเต๊า
สิ่งสำคัญที่ทำให้ขงเบ้งยอมรับใช้เล่าปี่แบบถวายชีวิต ก่อศักดิ์ เห็นว่าเป็นเพราะขงเบ้งต้องการมีเวทีแสดงฝีมือ มีโอกาสทำงานที่เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะทำเพื่อตนเอง
เมื่อ ขงเบ้ง สิ้นชีวิตไป คนเสฉวนก็ยังเคารพรัก ขงเบ้ง จนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่เขากับ เล่าปี่ คือคนนอกที่ไปฮุบแผ่นดินเสฉวน แต่เขาไม่เคยทำให้คนท้องถิ่นเกลียดผู้บุกรุก เพราะปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งคนในกองทัพและชาวบ้านในพื้นที่ ขงเบ้ง สร้างความรัก ความเชื่อใจของคนให้มีต่อ ก๊กเล่าปี่ แม้จะไม่ใช่ก๊กที่ชนะรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งก็ตาม ขณะที่ โจโฉ ไม่มีศาลเลย ที่ฝังศพก็ต้องปิดเป็นความลับ
รวมความสรุปได้ว่า
“ ก๊กโจโฉใช้อำนาจนิยม ผลจึงย้อนกลับสู่ตัว สุดท้ายโดนตระกูลสุมาเอี้ยนล้มล้าง ก๊กเล่าปี่ใช้คุณธรรมนิยมจึงสามารถอยู่รอดมาได้ถึงลูกหลาน แม้ตอนท้ายอาเต๊าจะถูกจับเป็นเชลยแต่ก็อยู่อย่างสุขสบายจนถึงบั้นปลายของชีวิต ไม่ถูกฆ่าตาย ส่วนซุนกวนสุดท้ายก็ไม่มีคนเก่งพอจะรักษาแผ่นดินไว้ได้ ”
บทความจาก เสวนาพิเศษ “จากปรัชญา สามก๊ก สู่การบริหาร HR” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “อ่าน สามก๊กถกยอดคน” โดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
cr.info graphic-thailand
โรงงานผลิต จำหน่าย ประตูม้วน ทุกระบบ ด้วยประสบการณ์ความชำนาญนานกว่า 20 ปี แผ่นหลังคารีดลอน เหล็กรูปพรรณ สแตนเลส วัสดุงานโครงสร้าง และอื่น ๆ